วันพุธที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

โปสการ์ดทำมือจากภูมิปัญญาชาวบ้าน

ไปรษณีย์ไทยจับมือ สสว.สร้างคอลเลคชั่นประวัติศาสตร์ “โปสการ์ดทำมือ” ตกแต่งด้วยวัสดุพื้นบ้านหลากชนิดหลายลีลา ผลงานจากภูมิปัญญาชุมชน 3 ภาค จำนวน 3 หมื่นชิ้น ชาวบ้านกว่า 2 พันชีวิตทุ่มเทแรงใจทำสุดกำลังเพื่อเฉลิมพระเกียรติราชินี 75 พรรษา แต่ละชิ้นมีเอกลักษณ์ “หนึ่งเดียวในโลก” ร่วมเป็นเจ้าของได้ในงานแสตมป์แห่งเอเชียต้นสิงหาคมนี้ นางสาวอานุสรา จิตต์มิตรภาพ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานการตลาดและพัฒนาธุรกิจ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) เปิดเผยถึงผลงานหัตถกรรมชุดพิเศษที่จัดทำขึ้นสำหรับงานแสดงตราไปรษณียากรภาคพื้นเอเชียที่ไทยเป็นเจ้าภาพครั้งนี้ว่า เป็นชุดโปสการ์ดพิมพ์ลายผ้าไหม 12 สี แต่ละแผ่นตกแต่งทำมือด้วยวัสดุพื้นบ้านในรูปแบบเฉพาะตัวแตกต่างกันถึง 14 แนวไม่ซ้ำแบบ ประกอบด้วย ดอกไม้สด ดอกไม้แห้ง ดอกไม้ไทย ดอกบัวทองคำเปลว ธัญพืช ว่าวไทย ตุงหรืออุบะ ไก่ฟ้าและนก ตุ๊กตาชาวเขา หัวใจ นิกเกิลฉลุ หนังฉลุลาย ผีเสื้อ และไม้ไผ่สาน แต่ละแบบจะมีลวดลายที่แตกต่างกันไป “นับเป็นชุดคอลเลคชั่นประวัติศาสตร์ที่ทำขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จฯ พระบรมราชินีนาถในฐานะที่ทรงมีคุณูปการอันใหญ่หลวงต่อการส่งเสริมฟื้นฟูงานศิลปาชีพ ด้วยจำนวนจำกัดเพียง 3 หมื่นแผ่นเท่านั้น และนำออกจำหน่ายเป็นของที่ระลึกให้แก่ผู้มาชมงานแสตมป์ครั้งนี้ในราคาแผ่นละ 75 บาท พร้อมเปิดโอกาสให้ส่งไปรษณีย์ได้ฟรีภายในงานด้วย ไม่ว่าจะส่งในประเทศ หรือต่างประเทศ ส่วนรายได้ทั้งหมดจากการจำหน่ายจะนำขึ้นทูลเกล้าฯถวายโดยเสด็จพระราชกุศลต่อไป” ทางด้านนางจิตราภรณ์ เตชาชาญ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า การสนับสนุนงบประมาณในการจัดทำคอลเลคชั่นโปสการ์ดดังกล่าว นอกจากเพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติในงานแสตมป์แห่งเอเชียครั้งนี้แล้ว ยังเป็นการกระจายรายได้ไปสู่ประชาชนในชุมชนท้องถิ่น ซึ่งมีทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ โดยสมาชิกกลุ่มแม่บ้านของแต่ละชุมชนที่เข้ามามีส่วนร่วมมีจำนวนมากกว่า 2,000 คน “แต่ละกลุ่มจะมีความถนัดเฉพาะด้าน เช่นภาคใต้ จะเป็นงานตอกหนัง ภาคเหนือที่อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ก็จะถนัดการประดิษฐ์ด้วยดอกไม้สด และดอกไม้แห้ง ส่วนภาคอีสาน จะเป็นงานพวกจักสาน ซึ่งทุกคนที่มาร่วมงานต่างตื่นเต้นกระตือรือร้นในการทำอย่างสุดความสามารถ เมื่อทราบว่าเป็นงานที่ทำขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ 75 พรรษาของพระองค์ท่านโดยตรง ดังนั้นจึงบอกได้เลยว่าทุกชิ้นงานจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เป็นหนึ่งเดียวในโลกที่ไม่ซ้ำแบบใครเลยทีเดียว”

ถั่วเน่า ภูมิปัญญาภาคเหนือ

ถั่วเน่า…ผลิตภัณฑ์แห่งภูมิปัญญาภาคเหนือ
ถั่วเหลือง (Soybean, Glycine max (L.) Merrill เป็นพืชเศรษฐกิจตระกูลถั่วที่เหมาะสำหรับปลูกสลับกับการปลูกข้าว การปลูกถั่วเหลืองมีในประเทศจีนเกือบ 5,000 ปี บริเวณหุบเขาแม่น้ำเหลือง และกระจายสู่ประเทศเกาหลีและญี่ปุ่น เมื่อ 200 ปีก่อนคริสตกาล แล้วเข้าสู่ยุโรปช่วงหลัง พ.ศ. 2143 และไปสู่สหรัฐอเมริกาปี พ.ศ. 2347 จากนั้นกว่า 100 ปี ชาวอเมริกันได้ปลูกถั่วเหลืองเพื่อเป็นอาหารสัตว์ ปี พ.ศ. 2473 โดยสหรัฐอเมริกาได้นำเข้าพันธุ์ถั่วเหลืองจากจีน 1,000 สายพันธุ์ เพื่อการผสมและคัดเลือกพันธุ์ ทำให้ได้เมล็ดพันธุ์ที่มีเมล็ดโต ผลผลิตสูง ในประเทศไทยถั่วเหลืองสามารถแปรรูปให้ได้ผลิตภัณฑ์อาหารที่หลากหลายเช่น น้ำมัน หรือ อาหารจากถั่วเหลือง เป็นต้น ประเภทอาหารที่ทำจากถั่วเหลืองแถบเอเชีย เช่น ไทย จีน ญี่ปุ่น และประเทศอื่นในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองที่ไม่ผ่านการหมัก และผ่านการหมักก่อน ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ผ่านการหมัก เช่น น้ำนมถั่วเหลือง เต้าหู้ ถั่วงอกที่เพาะจากถั่วเหลือง เป็นต้น ส่วนผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการหมัก เช่น ถั่วเน่า เทมเป้ ซอส เต้าเจี้ยว เป็นต้นโปรตีน หลังจากการสกัดน้ำมันออกแล้วสามารถแปรรูปเป็นอาหารอื่น เช่น เนื้อเทียม หรือ โปรตีนเกษตร แป้งเบเกอรี่ โปรตีนเข้มข้น เป็นต้น ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ได้จากการแปรรูป เช่น ไอศกรีม โยเกิร์ต บัตเตอร์ เป็นต้น อาหารเสริมจากถั่วเหลือง เนื่องจากถั่วเหลืองมีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ เช่น เลซิติน ไฟโตรเอสโตรเจน เป็นต้น สามารถใช้ถั่วเหลืองเพื่อช่วยเพิ่มเยื่อใยและคุณค่าทางอาหารกับร่างกาย
โภชนาการถั่วเหลือง ประกอบด้วย คาร์โบไฮเดรท 35% โปรตีน 50% ไขมัน 20% และในไขมันประกอบด้วยกรดไขมันต่างๆ เช่น ลิโนเลอิก (Linoleic) 50% โอเลอิก (Oleic) 30% ลิโนเลนิก (Linolenic) 7% และปาล์มมิติก (Palmitic) กับ สเตียริก (Stearic) 14% (คำนวณจากน้ำหนักแห้ง) นอกจากนี้ยัง ประกอบไปด้วยแคลเซียม ฟอสฟอรัส และวิตามิน A, B, B1, B2, B6, B12 ไนอาซีนวิตามิน C, D, E อีกด้วย

ผลิตภัณฑ์ถั่วเหลืองพื้นบ้านภาคเหนือ ถั่วเหลืองเป็นพืชวัฒนธรรมภาคเหนือที่สามารถปลูกได้ทั้งในสภาพไร่ และสภาพนา ซึ่ง สามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์พื้นบ้านได้หลายอย่าง และสามารถแปรรูปเป็นอาหารทางวัฒนธรรมประจำถิ่นของคนภาคเหนือที่สืบทอดกันมาเป็นเวลานาน เช่น ถั่วเน่า ถั่วเน่าซา ถั่วเน่าทรงเครื่อง ถั่วเน่าห่อ ถั่วเน่าแข็บ เป็นส่วนประกอบอาหารพื้นบ้านหลากหลายประจำครัว เพื่อบริโภคกับข้าวเจ้า หรือข้าวเหนียวก็ได้ โดยมีผักพื้นบ้านเป็นเครื่องเคียง ซึ่งอาหารที่มีถั่วเหลืองเป็นองค์ประกอบเป็นอาหารสุขภาพ และทำให้คนในท้องถิ่นภาคเหนือส่วนหนึ่งอยู่รอด และมีคุณภาพชีวิตที่ดี
ขั้นตอนการผลิตถั่วเน่า การผลิตถั่วเน่าเป็นวิธีการแปรรูปถั่วเหลืองให้เป็นถั่วเน่า โดยมีขั้นตอนการผลิตคือ 1. แช่เมล็ดถั่วเหลืองนาน 1 คืน 2. ต้มถั่วเหลืองให้สุก 3. หมักถั่วเหลืองนาน 2-3 วัน ได้ถั่วเน่าซา สามารถนำไปปรุง หรือประกอบอาหารสำหรับการบริโภคได้เลย 4. บดถั่วเน่าให้ละเอียดและปั้นตากแดดเป็นแผ่นคล้ายแผ่นซีดี เรียกว่า ถั่วเน่าแข็บธรรมดา หรือ ถั่วเน่าแข็บปรุงรส โดยการผสมเกลือ หรือ ขิง ข่า พริก เป็นต้น หรือนำไปห่อด้วยใบตองเพื่อนึ่ง ย่างไฟ ตามความชอบของแต่ละท้องถิ่น
กระบวนการหมัก ผลการตรวจเชื้อแบคทีเรียที่มีประโยชน์ที่ใช้ในการหมักถั่วเหลืองในจังหวัดเชียงใหม่และเชียงรายเพื่อให้ได้ถั่วเน่า พบว่าเป็นเชื้อแบคทีเรียกลุ่ม Bacillus spp. ซึ่งแบคทีเรียกลุ่มนี้สามารถผลิตกรดแกมมาพอลิกลูตามิก ( - polyglutamic acid; PGA) เมื่อแยกชนิดของเชื้อพบว่าเป็นแบคทีเรียชนิด Bacillus Subtilis RS2 โดยปกติกลิ่นประจำถั่วเหลืองคือ สาร 1-octen-3-ol เมื่อถั่วเหลืองผ่านกระบวนการหมักจะทำให้สารประจำกลิ่นเฉพาะของถั่วเหลืองลดลง และเกิดสารใหม่ขึ้นคือสาร Pyrazine ซึ่งสารชนิดนี้ทำให้ถั่วเหลืองหมักมีกลิ่นถั่วเน่า โดยปกติอุณหภูมิการหมักถั่วเหลืองมีผลต่อปริมาณโปรตีน คือ ถั่วเหลืองหมักที่ใช้เชื้อแบคทีเรีย B. subtilis ที่หมักที่อุณหภูมิ 35 0 ซ หรือ 45 0 ซ จะมีปริมาณโปรตีนสูงสุดคือ 53 มล./กรัม การใช้สายพันธุ์จุลินทรีย์ผสม Bacillus spp. รหัส B4 กับ klebsiella pneumniae สามารถการเพิ่มวิตามินบี 12 ในถั่วเน่าได้ ในขณะที่ การหมักถั่วเหลืองนานขึ้นจะทำให้ถั่วเน่ามีปริมาณเชื้อจุลินทรีย์ และโปรตีนเพิ่มขึ้น ผลิตภัณฑ์ถั่วเน่ามีความชื้นอยู่ระหว่าง 12-66 เปอร์เซ็นต์ขึ้นอยู่กับชนิดของผลิตภัณฑ์ โดยถั่วเน่าชนิดต่างๆ สามารถเก็บได้นานต่างกัน เช่น ถั่วเน่าแข็บสามารถเก็บในห้องอุณหภูมิปกติได้ 3 เดือน ถั่วเน่าซา ถั่วเน่าห่อ ถั่วเน่าทรงเครื่องสามารถเก็บได้ในตู้เย็น 3-4 วัน เป็นต้น
งานวิจัยผลิตภัณฑ์ถั่วเหลืองพื้นบ้าน เมื่อใช้พันธุ์ถั่วพันธุ์ตาแดงเมืองปายมาทำถั่วเน่าแข็บ โดยแบ่งเวลาการต้มออกเป็น 3 ระยะคือ ต้มนาน 2 , 4 และ 6 ชั่วโมง ผลการตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์ถั่วเน่าพบว่า ถั่วเน่าแข็บจะค่อนข้างจะมีเนื้อหยาบและกระด้าง เมื่อต้มถั่วเหลืองที่ใช้เวลาน้อยกว่า 2 ชั่วโมง นอกจากนี้แล้วเมื่อต้มนานขึ้นผลิตภัณฑ์ถั่วเน่าแข็บมีโปรตีนสูงขึ้น พันธุ์ถั่วเหลืองที่นำมาทำถั่วเน่าแข็บ 4 พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์รับรองของกรมวิชาการเกษตร 2 พันธุ์ คือ เชียงใหม่ 60 และ สุโขทัย 3 (ถั่วเหลืองผิวดำ) พันธุ์พื้นบ้าน 2 พันธุ์ คือ ตาแดงเมืองปาย และไข่แมงทอง พบว่าทุกพันธุ์สามารถทำถั่วเน่าแข็บได้ โดยจะมีโปรตีนระหว่าง 38-44 เปอร์เซ็นต์ แต่สีของผลิตภัณฑ์ถั่วเน่าพันธุ์พื้นเมืองทั้ง 2 พันธุ์จะมีสีเหลืองทองสวยกว่าพันธุ์เชียงใหม่ 60 และพันธุ์สุโขทัย 3 โดยพันธุ์สุโขทัยให้ผลิตภัณฑ์ถั่วเน่าแข็บสีดำ การบรรจุใช้บรรจุภัณฑ์ถั่วเน่าที่มีฉลาก แสดงคุณภาพ สถานที่ผลิต วันผลิต วันหมดอายุ และวิธีการใช้ จะสร้างคุณค่าและเผยแพร่ผลิตภัณฑ์ถั่วเน่าไปสู่ผู้ใช้มากยิ่งขึ้น
ผลิตภัณฑ์ถั่วเหลืองหมักในต่างประเทศ ผลิตภัณฑ์ถั่วเหลืองหมักที่คล้ายกับถั่วเน่าทางภาคเหนือของไทยในต่างประเทศมีหลายแห่ง เช่น นัตโต (Natto) มิโส (Miso) ประเทศญี่ปุ่น คีนีมา (kinema) ประเทศเนปาลและอินเดีย schuidouchi ประเทศจีน dawadawa ประเทศแถบแอฟริกาฝั่งตะวันตก chungkookjang ประเทศเกาหลี เทมเป (Tempeh) ประเทศอินโดนีเซีย เป็นต้น ซึ่งสายพันธุ์จุลินทรีย์ที่ใช้ในกระบวนการหมักผลิตภัณฑ์ถั่วเหลืองก็จะมีความแตกต่างกันไป ถั่วเน่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าต่อสุขภาพ ราคาประหยัด และสอดคล้องกับแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงทางด้านการสร้างภูมิคุ้มกันกับร่างกาย (สุขภาพ) เหลือเงินออม (ประหยัด) ดังนั้นการรักษาผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างถั่วเน่าให้คงอยู่ และปรับปรุงคุณภาพถั่วเน่าให้ได้คุณภาพดี และเป็นที่นิยมกับบุคคลทั่วไปโดยการปรับปรุงกลิ่น น่าจะรักษาวัฒนธรรมการปลูก การแปรรูปถั่วเหลืองให้อยู่คู่กับคนไทยต่อไป

โครงการพระราชดำริฝนหลวง

โครงการพระราชดำริฝนหลวง
ที่มาโครงการพระราชดำริฝนหลวง "... แต่มาเงยดูท้องฟ้า มีเมฆ ทำไมมีเมฆอย่างนี้ ทำไมจะดึงเมฆนี่ลงมาให้ได้ก็เคยได้ยินเรื่องการทำฝน ก็มาปรารภกับคุณเทพฤทธิ์ ฝนทำได้มี มีหนังสือ เคยอ่านหนังสือทำได้... "
โครงการพระราชดำริฝนหลวง เป็นโครงการที่ก่อกำเนิดจาก พระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงห่วงใยในความทุกข์ยากของพสกนิกรในท้องถิ่นทุรกันดาร ที่ต้องประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ เพื่ออุปโภคบริโภคและเกษตรกรรม อันเนื่องมาจากภาวะแห้งแล้งซึ่งมีสาเหตุมาจาก ความผันแปร และคลาดเคลื่อนของฤดูกาลตามธรรมชาติ กล่าวคือ ฤดูฝนเริ่มต้นล่าเกินไป หรือหมดเร็วกว่าปกติหรือฝนทิ้งช่วงยาวในช่วงฤดูฝน จากพระราชกรณียกิจในการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพสกนิกรในทุกภูมิภาคอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอนับแต่เสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ จนตราบเท่าทุกวันนี้ ทรงพบเห็นว่าภาวะแห้งแล้ง ได้ทวีความถี่ และมีแนวโน้มว่าจะรุนแรงยิ่งขึ้นตามลำดับ เพราะนอกจากความผันแปรและคลาดเคลื่อนของฤดูกาลตามธรรมชาติแล้ว การตัดไม้ทำลายป่า ยังเป็นสาเหตุให้สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้แก่ราษฎร ในทุกภาคของประเทศ ทำความเสียหายแก่เศรษฐกิจโดยรวมของชาติเป็นมูลค่ามหาศาลในแต่ละปี
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในปี พ.ศ. 2498 ครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน ตามเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินทรงสังเกตเห็นว่า มีเมฆปริมาณมากปกคลุมท้องฟ้า แต่ไม่สามารถก่อรวมตัวกัน จนเกิดเป็นฝนได้ เป็นเหตุให้เกิดภาวะฝนทิ้งช่วงระยะยาวทั้ง ๆ ที่เป็นช่วงฤดูฝน ทรงคิดคำนึงว่า น่าจะมีมาตรการทางวิทยาศาสตร์ ที่จะช่วยให้เมฆเหล่านั้นก่อรวมตัวกันจนเกิดเป็นฝนได้ ทรงเชื่อมั่นว่า ด้วยลักษณะของภูมิอากาศ และภูมิประเทศของประเทศไทยซึ่งตั้งอยู่ในภูมิภาคเขตร้อน และอยู่ในอิทธิพลของฤดูมรสุมของทวีปเอเชีย โดยเฉพาะฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ซึ่งเป็นฤดูฝน และเป็นฤดูเพาะปลูกประจำปีของประเทศไทย จะสามารถดัดแปรสภาพอากาศ ให้เกิดเป็นฝนตกได้ อย่างแน่นอน ตามที่ทรงเล่าไว้ใน The Rainmaking Story จากปี พ.ศ. 2498 เป็นต้นมา ทรงศึกษาค้นคว้า และวิจัยทางเอกสาร ทั้งด้านวิชาการอุตุนิยมวิทยา และการดัดแปรสภาพอากาศ ซึ่งทรงรอบรู้ และเชี่ยวชาญ เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ จนทรงมั่นพระทัย จึงพระราชทานแนวคิดนี้แก่ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล ผู้เชี่ยวชาญในการวิจัยประดิษฐ์ทางด้านเกษตรวิศวกรรม ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ขณะนั้น ซึ่งในปีถัดมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้หาลู่ทางที่จะทำให้เกิดการทดลองปฏิบัติการในท้องฟ้าให้เป็นไปได้

พระราชกรณียกิจด้านIT

พระราชกรณียกิจในด้าน IT1. พระราชกรณียกิจด้านสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์2. พระราชกรณียกิจด้านวิทยุกระจายเสียง3. พระราชกรณียกิจด้านดาวเทียม
1. พระราชกรณียกิจด้านสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระทัยด้านการสื่อสารตั้งแต่ทรงพระเยาว์ "...ทรงทดลองต่อสายไฟพ่วงขนานกับลำโพงขยาย ของเครื่องรับวิทยุส่วนพระองค์ที่ผลิตจากประเทศสวีเดน ยี่ห้อ 'Centrum' จากห้องที่ประทับพระองค์ท่านไปยังห้องที่ประทับของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทั้งสองพระองค์ทรงพอพระทัยในบริการเสียงตามสายไม่น้อย..." (สุชาติ เผือกสกนธ์, วันสื่อสารแห่งชาติ : 2530) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงอุทิศพระองค์ พระอัจฉริยะและพระอุตสาหะทั้งมวล เพื่อราษฎรในทุกภูมิภาค พระองค์ทรงมีดำริให้มีการพัฒนาด้านระบบวิทยุสื่อสารอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น กล่าวคือสามารถรับส่งได้ไกลยิ่งขึ้น ดังจะเห็นได้จากการที่พระองค์ทรงใช้เครื่องมือสื่อสารพกติดพระองค์ เพื่อประกอบพระราชกรณียกิจต่างๆ อยู่เสมอ เพราะสิ่งที่พระองค์ทรงขาดไม่ได้คือการสดับตรับฟังข่าวทุกข์สุขของประชาชน ดังเช่น ในระหว่างการเสด็จเยี่ยมราษฎรได้ทรงพบว่า มีผู้ใดที่กำลังป่วยเจ็บจำเป็นต้องบำบัดรักษา จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คณะแพทย์ผู้ตามเสด็จดูแลตรวจรักษาทันที ในบางรายที่มีอาการป่วยหนัก จำเป็นต้องส่งตัวเข้าบำบัดรักษาในโรงพยาบาลท้องถิ่นหรือโรงพยาบาลในกรุงเทพมหานครโดยเร็ว หากมีเวลาเพียงพอ พระองค์ท่านจะรับสั่งผ่านทางวิทยุถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ตำรวจตระเวนชายแดน ขอรับการสนับสนุนเรื่องการขนส่ง เช่น เฮลิคอปเตอร์ เพื่อนำผู้ป่วยเจ็บส่งยังที่หมายปลายทางด้วยพระองค์เอง นอกจากนี้ พระองค์ได้ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นำระบบสื่อสารแบบถ่ายทอดสัญญาณหรือ Repeater ซึ่งเชื่อมต่อทางวงจรทางไกลขององค์การโทรศัพท์ฯ ให้มูลนิธิแพทย์อาสาฯ (พอ.สว.) นำไปใช้เพื่อช่วยเหลือรักษาพยาบาลแก่ผู้เจ็บป่วยในท้องถิ่นห่างไกล ในเรื่องการปฏิบัติการฝนเทียมหรือฝนหลวงพระราชทาน ในการปฏิบัติระยะแรกๆ ได้ประสบปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่ไม่ทราบล่วงหน้า ซึ่งนักบินผู้ปฏิบัติจำเป็นต้องได้รับคำแนะนำแก้ไขโดยฉับพลัน เนื่องจากยังไม่มีการติดต่อสื่อสารระหว่างผู้ปฏิบัติการด้วยกัน จึงเป็นเหตุให้ไม่ได้ผลเท่าที่ควร กล่าวคือฝนไม่ตกในเป้าหมายบ้าง ตกน้อย หรือไม่ตกตามที่คิดบ้าง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงสดับตรับฟังข่าวการปฏิบัติการฝนเทียมทุกครั้ง และทรงทราบถึงปัญหาสำคัญคือ การขาดการติดต่อสื่อสารที่ดี จึงโปรดเกล้าฯ ให้ติดตั้งวิทยุให้แก่หน่วยปฏิบัติการฝนเทียม ทั้งทางอากาศและทางภาคพื้นดิน นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริให้ทำการศึกษาวิจัย รวมถึงการออกแบบและสร้างสายอากาศย่านความถี่สูงมาก หรือที่เรียกว่า VHF (วี.เอช.เอฟ) ขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ 3 ประการ ประการแรก เพื่อที่จะได้ใช้งานกับวิทยุส่วนพระองค์ ทั้งนี้โดยมีพระราชประสงค์ที่จะให้ทราบเหตุการณ์ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของสาธารณภัยที่เกิดขึ้นกับประชาชน เรื่องไฟไหม้ เรื่องน้ำท่วม ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อที่จะได้ทรงช่วยเหลือได้ทันท่วงที ประการที่สอง เพื่อที่จะพระราชทานให้แก่หน่วยราชการต่างๆ ประการที่สาม เพื่อส่งเสริมให้คนไทยที่มีความรู้ ความสามารถและตั้งใจจริง ได้ใช้ความอุตสาหวิริยะในการพัฒนาระบบวิทยุสื่อสารขึ้นใช้เองภายในประเทศ นอกเหนือจากวิทยุสื่อสารแล้ว ในเรื่องของเทเล็กซ์พระองค์ทรงสนพระทัยอยู่ไม่น้อย และสิ่งหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่เคยทรงขาดคือ การพระราชทานพรปีใหม่ นอกจากจะทรงมีกระแสพระราชดำรัส พระราชทานพรปีใหม่แก่พสกนิกรไทยทางวิทยุและโทรทัศน์ทุกแห่งแล้ว พระองค์ท่านยังทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานพรทางเทเล็กซ์สม่ำเสมอทุกปี แต่ในปัจจุบันท่านทรงใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในการประดิษฐ์บัตรอวยพรปีใหม่แทน นอกจากนี้พระองค์ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการสื่อสารว่า การสื่อสารเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินธุรกิจทุกประเภท, การสื่อสารเป็นหัวใจของความมั่นคงของประเทศ และการสื่อสารเป็นองค์ประกอบที่สำคัญยิ่งในการพัฒนาประเทศให้ประชาชนอยู่ดีกินดี 2. พระราชกรณียกิจด้านวิทยุกระจายเสียง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระทัยในเรื่องวิทยุเป็นอย่างมาก ตั้งแต่เมื่อครั้งยังเยาว์ ซึ่งพระองค์ประทับอยู่ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พระองค์ได้ทรงซื้ออุปกรณ์เครื่องรับวิทยุ ซึ่งมีวางขายเลหลังราคาถูกทรงประกอบเป็นเครื่องรับวิทยุชนิดแร่ สามารถรับฟังวิทยุกระจายเสียงในยุโรปได้หลายแห่ง ต่อมาเมื่อกิจการวิทยุเจริญก้าวหน้ามากขึ้น ได้นำหลอดวิทยุมาใช้ในเครื่องรับ-ส่งวิทยุ และเครื่องขยายเสียง และพระองค์ท่านก็ได้ทรงทดลองอุปกรณ์แบบใหม่นี้ด้วยเช่นกัน เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินกลับมา ประทับอยู่ในประเทศไทยเป็นการถาวร ในปี พ.ศ. 2495 พระองค์ได้ทรงตั้งสถานีวิทยุ อ.ส. ขึ้นที่พระราชวังสวนดุสิต และชื่อสถานีวิทยุดังกล่าวได้ทรงนำมาจากอักษรย่อของพระที่นั่งอัมพรสถาน ซึ่งเป็นสถานที่ที่ใช้ออกอากาศครั้งแรก ต่อมาจึงย้ายสถานีวิทยุ อ.ส. เข้าไปตั้งในบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน สถานีวิทยุ อ.ส. เมื่อแรกตั้งเป็นสถานีเล็กๆ มีเครื่องส่ง 2 เครื่อง ขนาดที่มีกำลังส่ง 100 วัตต์ ออกอากาศด้วยคลื่นสั้นและคลื่นยาวในระบบ AM พร้อมๆ กัน เครื่องส่งรุ่นแรกนี้เป็นเครื่องที่ กรมประชาสัมพันธ์ทูลเกล้าฯ ถวายและติดตั้งให้ด้วยเมื่อออกอากาศไปได้ระยะหนึ่ง และในระบบคลื่นสั้นก็มีจดหมายรายงานผลการรับฟัง เข้ามาจากหลายประเทศ เช่น นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เยอรมันฯ เป็นต้น ดังนั้นจึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้ขยายกำลังส่ง โดยมีชื่อรหัสสถานีว่า HS 1 AS ในปี พ.ศ. 2525 สถานีวิทยุ อ.ส. ได้เพิ่มการส่งกระจายเสียงในระบบ FM ขึ้นอีกระบบหนึ่ง ในการขยายด้านกำลังส่งนั้นอุปกรณ์ต่างๆ ล้วนแต่มีผู้โดยเสด็จพระราชกุศล เพื่อให้สถานีวิทยุ อ.ส. สามารถบริการประชาชนได้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น อาจถือได้ว่าเป็นสถานีวิทยุเอกชนเพียงแห่งเดียวที่สามารถกระจายเสียงคลื่นสั้นได้ ทั้งนี้เพราะถือว่าเป็นเครือข่ายกรมประชาสัมพันธ์ พระองค์ทรงมีวัตถุประสงค์ที่ทรงตั้งสถานีวิทยุ อ.ส. เพื่อเปิดโอกาสให้พสกนิกรมีช่องทางในการติดต่อกับพระองค์ได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องผ่านกระบวนการขั้นตอนตามพิธีการเหมือนในสมัยก่อน ทรงใช้สถานีวิทยุเพื่อเป็นสื่อในการประชาสัมพันธ์ติดต่อข่าวสารกับประชาชน และเป็นสื่อสัมพันธ์ระหว่างพระองค์และประชาราษฎร์ ที่ทรงแสดงให้ทราบถึงใจรักที่พระองค์ท่านพระราชทานให้กับประชาชนทั่วทุกคน นอกเหนือจากเป็นสถานีวิทยุของสื่อมวลชนเพื่อการบันเทิง และเผยแพร่ความรู้กับประชาชนแล้ว ยังได้ทำหน้าที่แจ้งข่าวสารแก่ประชาชนในโอกาสสำคัญ หรือเกิดเหตุการณ์ที่สำคัญต่างๆ ขึ้น เช่น การเกิดโรคโปลีโอระบาดในปี พ.ศ. 2495 อหิวาตกโรคในปี พ.ศ. 2501 และเมื่อเกิดวาตภัยที่แหลมตะลุมพุกในปี พ.ศ. 2505 โดยมีพระราชดำริให้ใช้สถานีวิทยุ อ.ส. เพื่อทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการช่วยเหลือผู้ประสบเคราะห์กรรม จนเป็นบ่อเกิดของมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ซึ่งปัจจุบันมีคุณขวัญแก้ว วัชโรทัย ทำหน้าที่นายสถานี เล่าให้ฟังว่า นโยบายหลักเกี่ยวกับการบริหารงานของสถานี ตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานไว้ก็คือ การเปิดโอกาสให้คนที่มีความรู้ ความสามารถ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยราชการหรือเอกชน ได้เข้ามาสนองพระมหากรุณาธิคุณให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ดังนั้นเจ้าหน้าที่ของสถานีจึงเป็นอาสาสมัครทั้งสิ้น และทรงรับภาระต่างๆ ด้านสถานีด้วยทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ พระองค์ทรงใช้นโยบายประหยัดและใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่าที่สุด และในปัจจุบันนี้สถานีวิทยุ อ.ส. ยังคงกระจายเสียงเป็นประจำทุกวันเว้นวันจันทร์ โดยออกอากาศทั้งคลื่นสั้นและคลื่นยาว ในระบบ AM 1332 KHzและ FM 104 MHz ควบคู่กันไปด้วยกำลังส่ง 10 กิโลวัตต์ โดยออกอากาศวันอังคารถึงวันเสาร์ เวลา 10.30-12.00 และ 16.00-19.00 วันอาทิตย์ เวลา 9.00-12.00 หยุดทุกวันจันทร์ 3. พระราชกรณียกิจด้านดาวเทียม ดาวเทียมไทยคมนับว่า เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้การสื่อสารโทรคมนาคมของไทยก้าวสู่ยุคแห่งความล้ำหน้า และได้เข้ามามีส่วนร่วม ในการสนองพระราชดำริ ในเรื่องของการศึกษา คุณขวัญแก้ว วัชโรทัย เป็นผู้สนองพระราชภารกิจที่โรงเรียนไกลกังวล หัวหิน ซึ่งขณะนี้ได้พยายามที่จะนำเอาดาวเทียมไทยคม เข้าไปใช้ในกิจการด้านการเรียนการสอน เจตนารมณ์ดังกล่าว เป็นการสนองตอบความต้องการของประชาชน และเป็นการปรับปรุงในเรื่องของการศึกษาให้สอดคล้องกับยุคสมัยอีกด้วย อีกทั้งยังเป็นการจัดการศึกษาใต้ร่มพระบารมีอย่างแท้จริง และที่สำคัญเพื่อเป็นการสนองพระบรมราโชบายทางการศึกษา ในอันที่จะทำให้โรงเรียนไกลกังวลเป็นเครือข่ายและเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาไทยคมอย่างแท้จริง ล่าวได้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเป็นอเนกอนันต์ต่อประเทศชาติ ที่ได้มีพระราชดำริ ให้มีการพัฒนางานทางระบบวิทยุสื่อสารขึ้นในประเทศอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง เพราะสังคมปัจจุบันนั้น การสื่อสารก็เปรียบเสมือนกับระบบประสาทของร่างกายมนุษย์ ดังนั้นจึงนับได้ว่า พระองค์ท่านนั้นมีสายพระเนตรที่ยาวไกล ทรงเห็นบทบาทที่สำคัญยิ่งต่อการสื่อสาร

ในหลวงกับ IT

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่สนพระทัยใฝ่รู้และทรงศึกษาอย่างจริงจัง ลึกซึ้งในการค้นคว้าวิจัยเพื่อการพัฒนาในทางวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ การเกษตร การชลประทาน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการใช้เครื่องมือเทคโนโลยีต่างๆ โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศนั้น ทรงเห็นความสำคัญและประโยชน์อย่างยิ่ง ทรงสนับสนุนการค้นคว้าในทางวิทยาการคอมพิวเตอร์ ในด้านส่วนพระองค์นั้น ทรงศึกษาคิดค้นสร้างโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อการประมวลผลข้อมูลต่างๆ ด้วยพระองค์เอง ทรงประดิษฐ์รูปแบบตัวอักษรไทยที่มีลักษณะงดงาม เพื่อแสดงผลบนจอภาพคอมพิวเตอร์และเครื่องพิมพ์ ทรงใช้เครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อบันทึกพระราชกรณียกิจต่างๆ และทรงติดตั้งเครือข่ายสื่อสารคอมพิวเตอร์เพื่อสนับสนุนพระราชภารกิจต่างๆ ทั้งยังทรงเคยประดิษฐ์ ส.ค.ส. ด้วยคอมพิวเตอร์ เผยแพร่ผ่านสื่อมวลชนเพื่อทรงอวยพรปวงชนชาวไทย ความเป็นมาที่พระองค์ท่านทรงเริ่มใช้คอมพิวเตอร์นั้น ม.ล.อัศนี ปราโมช ได้ตกลงใจซื้อคอมพิวเตอร์แมคอินทอชพลัส อันเป็นเครื่องที่ทันสมัยที่สุดในยุคนั้นขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย คุณสมบัติอย่างหนึ่งที่ ม.ล.อัศนี เลือกเครื่องนี้ เพราะสามารถเก็บและพิมพ์โน้ตเพลงได้ การเรียนรู้และใช้งานไม่ยาก ทั้งยังอาจเชื่อมต่ออุปกรณ์พิเศษสำหรับเล่นดนตรีตามโน้ตเพลงที่เก็บไว้ได้ด้วย ตั้งแต่นั้น พระองค์ทรงใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในงานส่วนพระองค์ทางด้านดนตรี โดยทรงใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในการป้อนโน้ตเพลงและเนื้อร้อง พระองค์ท่านทรงศึกษาวิธีการใช้เครื่องและโปรแกรมที่เกี่ยวข้องด้วยพระองค์เอง สำหรับเรื่องอักขระคอมพิวเตอร์หรือฟอนต์ (Font) นั้นเป็นที่สนพระราชหฤทัย ก็เพราะหลังจากที่พระองค์ท่านได้ทรงศึกษา และใช้คอมพิวเตอร์ทำโน้ต คือเมื่อประมาณเดือนธันวาคม พ.ศ. 2529 และทรงทดลองใช้โปรแกรม "Fontastic" เมื่อประมาณเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2530 สิ่งที่ทรงสนพระทัยเป็นพิเศษคือการประดิษฐ์ตัวอักษรไทย ได้ทรงประดิษฐ์อักษรไทยหลายแบบ เช่น แบบจิตรลดา แบบภูพิงค์ ฯลฯ ทรงสนพระทัยประดิษฐ์อักษรขนาดใหญ่ที่สุดจนถึงขนาดเล็กที่สุด นอกจากนี้ยังตั้งพระทัยในการประดิษฐ์อักษรภาษาอื่นๆ เพิ่มขึ้น คือภาษาสันสกฤต และทรงดำริจะประดิษฐ์อักษรภาษาญี่ปุ่น แต่ขณะนี้ยังไม่ได้เริ่มประดิษฐ์ รับสั่งว่าต้องใช้เวลามาก ต่อมาก็ได้ทรงหันมาศึกษาการใช้คอมพิวเตอร์แสดงตัวเทวนาครีบนจอภาพ หรือที่พระองค์ท่าน ทรงเรียกว่า "ภาษาแขก" ซึ่งจัดทำได้ยากกว่าตัวอักษรภาษาไทย เพราะตัวอักษรเทวนาครีนั้นรูปแบบไม่คงที่ กล่าวคือ ถ้านำส่วนหนึ่งของอักษรนำมาต่อรวมกับอีกส่วนหนึ่งของอักษร จะเกิดอักษรใหม่ขึ้น และโปรแกรมที่พระองค์ทรงสร้างขึ้นนั้นมีตัว phonetic symbols การสร้างตัวอักษรเทวนาครีนั้น ทรงเริ่มเมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2530 ทรงศึกษาตัวอักษรเทวนาครีด้วยพระองค์เอง จากพจนานุกรมและตำราภาษาสันสกฤต และทรงสอบถามจากผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาบาลีสันสกฤต เช่น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และท่านองคมนตรี ม.ล. จิรายุ นพวงศ์ ซึ่งจะต้องตรวจสอบตัวอักษรที่ทรงสร้างขึ้น พระองค์นำโปรแกรมออกแสดงเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2530 มีคำถามว่า เหตุใดพระองค์ท่านจึงทรงสนพระราชหฤทัยในตัวอักษรเทวนาครีหรือภาษาแขก เรื่องนี้มีผู้อธิบายไว้ว่า ในหลวงที่รักของพวกเรานั้น ทรงศึกษาข้อธรรมะในพระพุทธศาสนาอย่างจริงจังและลึกซึ้ง การที่ทรงศึกษาตัวอักษรแขก ก็เพื่อเป็นการนำไปสู่ความเข้าใจด้านอักษรศาสตร์ และความเข้าใจในหัวข้อธรรมะนั่นเอง เรื่องนี้นับว่าพระองค์มีวิจารณญาณที่ลึกซึ้งยิ่งนัก เพราะคำสอนและข้อธรรมะในพุทธศาสนานั้น เดิมทีก็เกิดและเผยแพร่มาจากประเทศอินเดีย บรรดาธรรมะที่ลึกซึ้งและยากแก่ความเข้าใจ ก็อาจจะถูกตีความผันแปรบิดเบือนไปได้ ดังนั้นการศึกษาค้นคว้าลึกลงไปถึงภาษาแขก จึงน่าจะได้ความรู้เกี่ยวกับธรรมะชัดเจนกระจ่างมากขึ้น ต่อมาได้มีผู้ทูลเกล้าฯ ถวายเครื่องคอมพิวเตอร์ IBM PC Compatible และทรงสนพระทัยศึกษาในการพัฒนา Software ต่างๆ และได้สร้างโปรแกรมใหม่ๆ ขึ้นมา รวมทั้งสนพระทัยในเทคนิคการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์แบบนี้มากทีเดียว บางครั้งทรงเปิดเครื่องออกดูระบบต่างๆ ภายในด้วยพระองค์เอง หรือทรงปรับปรุง Software ใหม่ขึ้นใช้ ทรงแก้ซอฟต์แวร์ในเครื่อง เช่น โปรแกรมภาษาไทย CU WRITER ให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ จะเห็นได้ว่าพระองค์ทรงใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในการพิมพ์ งานทรงพระอักษรส่วนพระองค์ และทรงเก็บงานเหล่านี้เป็นเรื่องๆ มาปะติดปะต่อกัน จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจ และบทพระราชนิพนธ์ต่างๆ เช่น เรื่องนายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ เป็นต้น ผลงานอีกชิ้นหนึ่งที่พระองค์ทรงประดิษฐ์ก็คือ การใช้คอมพิวเตอร์ "ปรุง" อวยพรปีใหม่ เพื่อพระราชทานแก่ข้าราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่เดิมพระองค์ได้พระราชทานผ่านเครื่องเทเล็กซ์ นอกจากนี้พระองค์ทรงสนพระทัยคอมพิวเตอร์เป็นอย่างมาก สังเกตได้จากขณะเสด็จพระราชดำเนินชมงานนิทรรศการต่างๆ เช่น สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พระองค์สนพระทัยซักถามอาจารย์และนักศึกษาที่ประดิษฐ์ซอฟต์แวร์ต่างๆ อย่างละเอียดและเป็นเวลานาน
ในส่วนที่เกี่ยวกับศาสนานั้น ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ บริจาคทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 1,472,900 บาท ในเดือนพฤษภาคม 2534 ให้มหาวิทยาลัยมหิดล จัดทำโครงการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษาพระไตรปิฎก และอรรถกถาต่อเนื่องจากโครงการพระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์เดิม ที่มหาวิทยาลัยมหิดลพัฒนาเสร็จแล้ว และได้ทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อร่วมเฉลิมฉลองเนื่องในวโรกาสรัชมังคลาภิเษก 2 กรกฎาคม 2531 ทรงเห็นว่าโครงการนี้ควรได้รวบรวมเอาชุดอรรถกถาและฎีกาเข้าไว้ด้วยกัน นับเป็นโครงการที่นำวิทยาการชั้นสูงมาประยุกต์ใช้กับข้อมูลเนื้อหาทางด้านพุทธศาสนา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงศึกษาพระไตรปิฎกและอรรถกถาฉบับคอมพิวเตอร์นี้ด้วยพระองค์เอง และมีพระบรมราชวินิจฉัย และพระราชวิจารณ์ในการออกแบบโปรแกรมสำหรับใช้ในการสืบค้นข้อมูล ในฐานะแห่งองค์เอกอัครศาสนูปถัมภก การครั้งนี้กล่าวได้ว่า เป็นการสืบต่อพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนยาวนานสืบไปในอนาคตกาล เพราะโครงการพระราชดำรินี้ เป็นส่วนสนับสนุนอย่างสำคัญ ที่ทำให้การศึกษาพระไตรปิฎกและชุดอรรถกถาเป็นไปได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ถูกต้อง แม่นยำ อีกทั้งรวบรวมเนื้อหาไว้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ เป็นประโยชน์โดยตรงต่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนา นับเป็นการใช้วิทยาการอันก้าวหน้าทางคอมพิวเตอร์ได้อย่างเหมาะสมและสร้างสรรค์ สำหรับโครงการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อการศึกษาพระไตรปิฎกและอรรถกถาตามพระราชดำรินี้ ได้พัฒนาแล้วเสร็จในเดือนพฤศจิกายน 2534 ในชื่อ BUDSIR IV โดยพัฒนาต่อเนื่องจาก โปรแกรม BUDSIR (อ่านออกเสียงว่า บุดเซอร์) มาจากคำว่า Buddhist Scriptures Information Retrieval สำหรับประวัติของ BUDSIR นั้น BUDSIR I สามารถค้นหาคำทุกคำ ศัพท์ทุกศัพท์ ทุกวลี ทุกพุทธวจนะ ที่มีปรากฏในพระไตรปิฎก จำนวน 45 เล่ม หรือข้อมูลมากกว่า 24.3 ล้านตัวอักษร ที่ได้รับการบันทึกในคอมพิวเตอร์ได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง และครบถ้วนสมบูรณ์ BUDSIR II พัฒนาแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2532 ซึ่งเป็นพระไตรปิฎกอักษรโรมัน สำหรับการเผยแผ่ไปยังต่างประเทศ BUDSIR III ได้รับการพัฒนาขึ้นอีกในเดือนเมษายน 2533 เพื่องานสืบค้นที่มีความซับซ้อน สำหรับ BUDSIR IV นี้ ได้รวบรวมพระไตรปิฎกและอรรถกถา/ฎีกา รวมทั้งคัมภีร์ทุกเล่มที่ใช้ศึกษาหลักสูตรเปรียญธรรม นอกจากนี้ยังรวม version ที่เป็นอักษรโรมันเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งมีขนาดข้อมูลรวม 115 เล่ม หรือประมาณ 450 ล้านตัวอักษร นับเป็นพระไตรปิฎกและอรรถกถา ฉบับคอมพิวเตอร์ที่สมบูรณ์ที่สุดในปัจจุบัน และมหาวิทยาลัยมหิดล ยังได้พัฒนาโครงการดังกล่าวเพิ่มเติม โดยบันทึกพระไตรปิฎกและอรรถกถา ลงบนแผ่น CD-ROM แล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม 2537 ซึ่งจะอำนวยความสะดวกอย่างมากต่อผู้ที่ต้องการจะศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎก ไม่ว่าจะเป็นชาวไทย หรือชาวต่างประเทศ ซึ่งมหาวิทยาลัยได้ทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวันที่ 18 มกราคม 2538 และในปัจจุบันสำนักคอมพิวเตอร์ ได้เริ่มโครงการพัฒนาโปรแกรมพระไตรปิฎกคอมพิวเตอร์ ฉบับภาษาไทย เพื่อให้พุทธศาสนิกชนทั่วไปได้ศึกษา อันจะเป็นการส่งเสริมให้มีการใช้งานโปรแกรมนี้ให้แพร่หลายยิ่งขึ้น