วันพุธที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

โปสการ์ดทำมือจากภูมิปัญญาชาวบ้าน

ไปรษณีย์ไทยจับมือ สสว.สร้างคอลเลคชั่นประวัติศาสตร์ “โปสการ์ดทำมือ” ตกแต่งด้วยวัสดุพื้นบ้านหลากชนิดหลายลีลา ผลงานจากภูมิปัญญาชุมชน 3 ภาค จำนวน 3 หมื่นชิ้น ชาวบ้านกว่า 2 พันชีวิตทุ่มเทแรงใจทำสุดกำลังเพื่อเฉลิมพระเกียรติราชินี 75 พรรษา แต่ละชิ้นมีเอกลักษณ์ “หนึ่งเดียวในโลก” ร่วมเป็นเจ้าของได้ในงานแสตมป์แห่งเอเชียต้นสิงหาคมนี้ นางสาวอานุสรา จิตต์มิตรภาพ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานการตลาดและพัฒนาธุรกิจ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) เปิดเผยถึงผลงานหัตถกรรมชุดพิเศษที่จัดทำขึ้นสำหรับงานแสดงตราไปรษณียากรภาคพื้นเอเชียที่ไทยเป็นเจ้าภาพครั้งนี้ว่า เป็นชุดโปสการ์ดพิมพ์ลายผ้าไหม 12 สี แต่ละแผ่นตกแต่งทำมือด้วยวัสดุพื้นบ้านในรูปแบบเฉพาะตัวแตกต่างกันถึง 14 แนวไม่ซ้ำแบบ ประกอบด้วย ดอกไม้สด ดอกไม้แห้ง ดอกไม้ไทย ดอกบัวทองคำเปลว ธัญพืช ว่าวไทย ตุงหรืออุบะ ไก่ฟ้าและนก ตุ๊กตาชาวเขา หัวใจ นิกเกิลฉลุ หนังฉลุลาย ผีเสื้อ และไม้ไผ่สาน แต่ละแบบจะมีลวดลายที่แตกต่างกันไป “นับเป็นชุดคอลเลคชั่นประวัติศาสตร์ที่ทำขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จฯ พระบรมราชินีนาถในฐานะที่ทรงมีคุณูปการอันใหญ่หลวงต่อการส่งเสริมฟื้นฟูงานศิลปาชีพ ด้วยจำนวนจำกัดเพียง 3 หมื่นแผ่นเท่านั้น และนำออกจำหน่ายเป็นของที่ระลึกให้แก่ผู้มาชมงานแสตมป์ครั้งนี้ในราคาแผ่นละ 75 บาท พร้อมเปิดโอกาสให้ส่งไปรษณีย์ได้ฟรีภายในงานด้วย ไม่ว่าจะส่งในประเทศ หรือต่างประเทศ ส่วนรายได้ทั้งหมดจากการจำหน่ายจะนำขึ้นทูลเกล้าฯถวายโดยเสด็จพระราชกุศลต่อไป” ทางด้านนางจิตราภรณ์ เตชาชาญ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า การสนับสนุนงบประมาณในการจัดทำคอลเลคชั่นโปสการ์ดดังกล่าว นอกจากเพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติในงานแสตมป์แห่งเอเชียครั้งนี้แล้ว ยังเป็นการกระจายรายได้ไปสู่ประชาชนในชุมชนท้องถิ่น ซึ่งมีทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ โดยสมาชิกกลุ่มแม่บ้านของแต่ละชุมชนที่เข้ามามีส่วนร่วมมีจำนวนมากกว่า 2,000 คน “แต่ละกลุ่มจะมีความถนัดเฉพาะด้าน เช่นภาคใต้ จะเป็นงานตอกหนัง ภาคเหนือที่อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ก็จะถนัดการประดิษฐ์ด้วยดอกไม้สด และดอกไม้แห้ง ส่วนภาคอีสาน จะเป็นงานพวกจักสาน ซึ่งทุกคนที่มาร่วมงานต่างตื่นเต้นกระตือรือร้นในการทำอย่างสุดความสามารถ เมื่อทราบว่าเป็นงานที่ทำขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ 75 พรรษาของพระองค์ท่านโดยตรง ดังนั้นจึงบอกได้เลยว่าทุกชิ้นงานจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เป็นหนึ่งเดียวในโลกที่ไม่ซ้ำแบบใครเลยทีเดียว”